หน้าแรก > ข้อมูล > รายละเอียดข่าว
เหตุผล 7 ประการที่จะทำให้ราคาน้ำมันดิบในปี 2022 ปรับตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลง
2022-01-14 16:45:08
more 
255

WTI Weekly TTMWTI Weekly TTM

สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบได้วิ่งขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ไม่ได้เห็นมานานกว่าสองเดือน ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ขึ้นมาสร้างจุดสูงสุดที่ $84 ต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบ WTI ขยับเข้าใกล้ $82 ต่อบาร์เรล ในบทความนี้เราจะพาไปดูกันว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่จะสามารถผลักดันตลาดน้ำมันดิบได้ในอนาคตอันใกล้

ปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้น

1. เงินเฟ้อ

สัปดาห์นี้กระทรวงแรงงานของสหรัฐอเมริกาได้ประกาศตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อ ตัวเลขที่ออกมาคือ 7% ในเดือนธันวาคม สูงกว่าตัวเลข 6% ในรอบสามเดือนล่าสุด และยังเป็นอัตราการเติบโตของเงินเฟ้อที่เร็วที่สุดนับตั้งแต่ปี 1982 ก่อนหน้าที่จะมีการประกาศตัวเลขดังกล่าว ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ออกมากล่าวแล้วว่าจะปรับนโยบายการเงินให้มีความตึงตัวมากขึ้น เพื่อเตรียมตัวสำหรับการขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่จากสถานการณ์ตอนนี้ อย่างเร็วที่สุดที่เฟดจะสามารถทำได้คือเดือนมีนาคม

นักวิเคราะห์หลายสำนักเชื่อว่าเมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯ เริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ย พวกเขาจะไม่รีบปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะเฟดไม่ต้องการให้เกิดผลกระทบลูกโซ่ต่ออย่างเช่นการถดถอยทางเศรษฐกิจ ถ้อยแถลงของประธานเฟดเมื่อวันพุธ ยิ่งช่วยให้ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้น เพราะเขายืนยันว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยต้องไม่กระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งนักวิเคราะห์เอาไปตีความกันว่าความต้องการน้ำมันจะยังคงแข็งแกร่ง และเงินเฟ้อจะยังเป็นแรงขับเคลื่อนให้ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นต่อไป

 

2. อัตราการผลิตน้ำมันของกลุ่ม OPEC+

ถึงแม้ว่าผลการประชุมของกลุ่ม OPEC+ ประจำเดือนนี้จะได้ข้อสรุปว่าพวกเขาจะยังคงการผลิตต่อไปที่ 400,000 บาร์เรลต่อวัน (bpd) แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีแหล่งข่าวจากภายนอกที่ระบุว่าที่จริงแล้วกลุ่ม OPEC+ ไม่ได้ผลิตน้ำมันถึงจำนวนตัวเลข 400,000 bpd ข้อมูลจาก Platts เผยว่าในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา กลุ่ม OPEC+ ได้เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเพียง 310,000 bpd เท่านั้น และมีประเทศสมาชิก 14 จาก 18 ประเทศที่ไม่ได้ผลิตน้ำมันถึงโควตาที่กำหนดไว้ เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเริ่มมีคนตั้งคำถามว่าแล้วการผลิตในเดือนนี้และเดือนถัดไป OPEC+ จะสามารถทำได้ 400,000 bpd จริงหรือไม่

3. ความกังวลเกี่ยวกับโควิดสายพันธุ์โอมิครอน

การระบาดของเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ล่าสุดอย่างโอมิครอนในช่วงก่อนสิ้นปี 2021 ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง ความกังวลที่มีต่อความเป็นไปได้ในการต้องกลับมาล็อกดาวน์อีกครั้งทำให้ความต้องการน้ำมันดิบหดหาย หลายพื้นที่ในยุโรปประกาศพบผู้ติดเชื้อใหม่ นำไปสู่การนำมาตรการคุมเข้มทางสังคมออกมาใช้อีกครั้ง 

อย่างไรก็ตาม หลังจากปีใหม่ผ่านไป ความกังวลต่อโอมิครอนลดลง ผู้คนได้รู้แล้วว่าถึงยอดผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้น แต่ยอดผู้ป่วยหนักและยอดผู้เสียชีวิตไม่ได้เพิ่มขึ้นตาม นั่นจึงทำให้ความต้องการน้ำมันฟื้นกลับคืนมาอีกครั้ง และส่งให้ราคาน้ำมันดิบสามารถขยับกลับขึ้นมายืนเหนือ $80 ต่อบาร์เรลได้อีกรอบ

4. สถานการณ์ความไม่สงบในคาซัคสถาน

คาซัคสถานเป็นประเทศที่สามารถผลิตน้ำมันได้ 1.68 ล้านบาร์เรลต่อวัน เหตุการณ์ความไม่สงบภายในประเทศทำให้แหล่งผลิตน้ำมันหลักแห่งหนึ่งไม่สามารถดำเนินการได้ตามปกติ ราคาน้ำมันจึงปรับตัวเพิ่มขึ้นมาตามข่าวและความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นอยู่ในพื้นที่เสี่ยง อันที่จริงสถานการณ์ในคาซัคสถานจะไม่มีผลกับราคาน้ำมันเลยหากว่าประเด็นนี้ไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นข่าวในระดับนานาชาติ

 

ปัจจัยที่ต้องจับตาในอนาคต

1. ความสามารถในการผลิตน้ำมันของกลุ่ม OPEC+ ในเดือนมกราคม

จากประเด็นที่เกิดขึ้นในข้อ 2 นำมาซึ่งคำถามที่ว่า “เราจะได้เห็นกำลังการผลิตกลับมาเป็นเหมือนเดิมไหมในเดือนมกราคม?” ทุกสายตาตอนนี้จับจ้องไปที่สี่ประเทศผู้ผลิตน้ำมันหลักอย่างรัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และอีรัก เพื่อรอดูว่าเดือนนี้พวกเขาจะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันอย่างเต็มที่หรือไม่ การที่ทั้งสี่ประเทศผลิตน้ำมันอย่างเต็มกำลังถือเป็นการช่วยดึงกำลังการผลิตของประเทศสมาชิกอื่นอย่างเช่นไนจีเรียและลิเบียด้วย

2. กำลังการใช้น้ำมันของสหรัฐอเมริกา

อ้างอิงข้อมูลเบื้องต้นจาก GasBuddy เผยว่าการใช้น้ำมันในเดือนมกราคมของสหรัฐอเมริกาลดลง การใช้น้ำมันในวันที่ 10 มกราคมลงไปสร้างจุดต่ำสุดในรอบ 10 เดือนครึ่ง ตัวเลขความต้องการน้ำมันล่าสุดเมื่อวันจันทร์ก็ยังปรับตัวลดลง 1.5% จากวันจันทร์ที่ 3 มกราคม คิดเป็นค่าเฉลี่ยของความต้องการน้ำมันที่ปรับตัวลดลงในเฉพาะวันจันทร์ 7.8% ในช่วงนี้นักลงทุนต้องจับตาดูปริมาณน้ำมันดิบคงคลังจาก EIA เพื่อเปรียบเทียบกับรายงานของ GasBuddy เพื่อดูปริมาณการใช้น้ำมันดิบของชาวอเมริกัน

3. ประเด็นทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ 

การเจรจาทางการฑูตระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่านและสหรัฐฯ กับรัสเซียยังคงดำเนินต่อไปในปีนี้ สำหรับอิหร่านนั้นมีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อย แต่เพราะในตอนนี้ที่ความนิยมของประธานาธิบดีโจ ไบเดนกำลังลดลง ก็อาจจะทำให้รัฐบาลลุกขึ้นมาสร้างผลงานบางอย่าง (อย่างเช่นลดมาตรการที่อยู่ในการคว่ำบาตร) เพื่อให้สามารถพูดได้ว่า รัฐบาลของโจ ไบเดน ประสบความสำเร็จกับการทำนโยบายต่างประเทศ สำหรับรัสเซีย โจ ไบเดนอาจจะต้องการงัดข้อในประเด็นที่รัสเซียพยายามคุกคามยูเครน ราคาน้ำมันจะผันผวนกับประเด็นนี้โดยขึ้นอยู่กับว่าข้อสรุปที่ออกมาจะเป็นเช่นไร

คำสั่ง:
เนื้อหาของบทความนี้ไม่ได้แสดงถึงมุมมองของเว็บไซต์ FxGecko เนื้อหามีไว้เพื่อการอ้างอิงเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน การลงทุนมีความเสี่ยง เลือกอย่างระมัดระวัง! หากมีปัญหาใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา ลิขสิทธิ์ ฯลฯ โปรดติดต่อเราและเราจะทำการปรับเปลี่ยนโดยเร็วที่สุด!

บทความที่เกี่ยวข้อง

您正在访问的是FxGecko网站。 FxGecko互联网及其移动端产品是中国香港特别行政区成立的Hitorank Co.,LIMITED旗下运营和管理的一款面向全球发行的企业资讯査询工具。

您的IP为 中国大陆地区,抱歉的通知您,不能为您提供查询服务,还请谅解。请遵守当地地法律。