หน้าแรก > ข้อมูล > รายละเอียดข่าว
กนง. มีมติ 6:1 “ขึ้น” ดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 0.75%
2022-08-10 18:15:11
more 
1459

กนง. มีมติ 6:1 “ขึ้น” ดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 0.75% หลังเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้นชัดเจนและเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง

  • Bank of Thailand Benchmark Interest Rate

Actual: 0.75% Previous: 0.50%

KTBGM: 0.75% Consensus: 0.75%

  • กนง. มีมติ 6 ต่อ 1 ให้ “ขึ้น” ดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 0.75% ตามคาด หลังเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้นชัดเจนและจะกลับสู่ระดับก่อน COVID-19 ได้ในสิ้นปีนี้ ส่วนเงินเฟ้อก็ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายพิเศษมีความจำเป็นน้อยลง ขณะที่คณะกรรมการ 1 ท่าน เห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% เพื่อลดความเสี่ยงที่ต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในอนาคต

  • เราปรับมุมมองใหม่ว่า กนง. จะทยอยขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% ในทุกครั้งการประชุมที่เหลือในปีนี้ ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะแตะระดับ 1.25% ณ สิ้นปีนี้ ส่วนในปีหน้า เรามองว่า การเร่งขึ้นดอกเบี้ยหรือขึ้นหลายครั้งอาจทำได้ยากมากขึ้น หลังเศรษฐกิจหลักมีโอกาสชะลอตัวหนักและเข้าสู่ภาวะถดถอย จึงคงมองว่า กนง. อาจขึ้นดอกเบี้ยถึงระดับ 1.75% ทั้งนี้ กนง. อาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าคาดได้ หากคาดการณ์เงินเฟ้อระยะปานกลางเร่งตัวขึ้นชัดเจน หรือ เกิดภาวะเงินทุนไหลออกรุนแรง

แม้ กนง. จะทยอยขึ้นดอกเบี้ย แต่เรามองว่า ธนาคารพาณิชย์อาจชะลอการขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ไปก่อน หรือ หากขึ้นก็อาจขึ้นในสัดส่วนที่น้อยกว่าในอดีต เพื่อลดผลกระทบต่อลูกหนี้ในจังหวะที่เศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว อนึ่ง เรามองว่า ธนาคารพาณิชย์มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ราว 0.40% ในต้นปีหน้า หลังอัตราเงินนำส่งจากสถาบันการเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) จะกลับสู่ระดับ 0.46% ตามปกติ

  • การประชุมครั้งถัดไป: 28 กันยายน 2565

กนง. มีมติ 6 ต่อ 1 ให้ “ขึ้น” ดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 0.75% โดยคณะกรรมการ 1 ท่าน เห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% เพื่อลดความเสี่ยงที่ต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยในอนาคตหากจำเป็น

  • กนง. คงมุมมองว่า เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องและอาจดีกว่าที่เคยประเมินไว้ หนุนโดยการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ดีกว่าคาด ส่วนการบริโภคภาคเอกชนก็ได้แรงหนุนจากตลาดแรงงานและรายได้ครัวเรือนที่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกต่อไทยอาจยังไม่มากนัก ทำให้เศรษฐกิจไทยจะกลับไปสู่ระดับก่อน COVID-19 ได้ในปีนี้ นอกจากนี้ ในการประชุมครั้งนี้ กนง. ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มสูงตามที่เคยประเมินไว้ ก่อนที่จะทยอยลดลงสู่กรอบเป้าหมายได้ในปีหน้า ตามแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานที่จะลดลง ขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังคงอยู่ใกล้ระดับเดิม ซึ่งจากภาพการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่ดีขึ้น บนภาวะเงินเฟ้อที่ยังคงสูงไปอีกระยะทำให้ กนง. จึงเห็นชอบให้ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% โดยมีคณะกรรมการ 1 ท่าน เห็นชอบให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% เพื่อลดความเสี่ยงที่ต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยในอนาคตและมองว่าการขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าวจะไม่กระทบการฟื้นตัวเศรษฐกิจ

  • แม้ กนง. มองว่า เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดีขึ้น แต่ กนง. มองว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายควรดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้เหมาะสมกับบริบทเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในอนาคต โดย กนง. จะติดตามความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยจากต้นทุนและค่าครองชีพที่สูงขึ้น พร้อมทั้ง ติดตามพัฒนาการเงินเฟ้อและการส่งผ่านต้นทุน รวมถึงเงินเฟ้อคาดการณ์อย่างใกล้ชิด

เราปรับมุมมองใหม่ว่า กนง. อาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในทุกการประชุมที่เหลือของปีนี้ ก่อนที่จะขึ้นอีก 2 ครั้งในปีนี้ จบรอบดอกเบี้ยขาขึ้นที่ 1.75%

  • เรามองว่า ในการประชุมครั้งนี้ กนง. มีมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจากเดิม ดังจะเห็นได้จากการที่ กนง. มองว่า เศรษฐกิจไทยจะกลับสู่ระดับก่อน COVID-19 ได้ในปีนี้ ส่วนความกังวลเงินเฟ้อของ กนง. ก็ยังคงมีอยู่ แต่เรามองว่า แรงกดดันเงินเฟ้อไม่ได้สูงมากนัก หลังเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางยังคงอยู่ใกล้เคียงระดับเดิม ทำให้ เราคาดว่า กนง. จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% สู่ระดับ 1.25% ในปีนี้ (เดิมมอง 1.00%)

  • อย่างไรก็ดี หากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ดีขึ้นมากกว่าคาดและเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางเร่งตัวสูงขึ้นมาก ก็มีโอกาสที่ ในการประชุมที่เหลือของปีนี้ กนง. อาจตัดสินใจเร่งขึ้นดอกเบี้ย ครั้งละ 0.50% ตามที่มีเสียงโหวต 1 เสียงในการประชุมครั้งนี้ได้

  • ทั้งนี้ แม้ว่าเราจะปรับมุมมองว่า กนง. อาจขึ้นดอกเบี้ยในทุกครั้งของการประชุมปีนี้ แต่เราคงมุมมอง จุดสูงสุดของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Terminal Rate) ไว้ตามเดิม โดยเราคงมองว่า Terminal Rate ของไทย ที่ระดับ 1.75% เนื่องจากระดับดังกล่าวเป็นระดับที่เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยและเพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงเศรษฐกิจหลักซบเซาหนักหรือถดถอยในช่วงกลางปี 2023 แต่หากเศรษฐกิจหลักไม่ได้เข้าสู่ภาวะถดถอย อาทิ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงแบบ Soft Landing อย่างที่เฟดคาดหวังไว้ เรามองว่า กนง. อาจชะลอการขึ้นดอกเบี้ยในช่วงเศรษฐกิจโลกมีปัญหา ก่อนที่จะทยอยเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยจนแตะระดับ 2.25% ได้ในปี 2024

  • ตลาดการเงินโดยรวมได้รับรู้มุมมองการทยอยขึ้นดอกเบี้ยของ กนง. ไปมากแล้วพอสมควร ทำให้การปรับนโยบายการเงินของ กนง. อาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินมากนัก อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องติดตาม คือ แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของบรรดาธนาคารพาณิชย์ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% มักจะตามมาด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ราว 0.15% แต่ในรอบการขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ เรามองว่า บริบทการฟื้นตัวของเศรษฐกิจนั้นแตกต่างจากรอบการขึ้นดอกเบี้ยในอดีต เพราะเศรษฐกิจเพิ่งจะเริ่มฟื้นตัวได้ดี แต่มีภาวะเงินเฟ้อสูงซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ กนง. ขึ้นดอกเบี้ย ดังนั้น ธนาคารพาณิชย์อาจชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไปก่อน เพื่อช่วยประคองการฟื้นตัวเศรษฐกิจและช่วยเหลือบรรดาลูกหนี้ และมีความเป็นไปได้ว่า หากธนาคารพาณิชย์ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ อัตราการขึ้นก็อาจจะน้อยกว่าในอดีต

  • แม้ว่า เราคาดว่า ธนาคารพาณิชย์จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ แต่ต้นทุนของธนาคารพาณิชย์ที่จะปรับตัวสูงขึ้นโดยอัตโนมัติในช่วงต้นปีหน้า จากการปรับขึ้น อัตราเงินนำส่งจากสถาบันการเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) กลับสู่ระดับ 0.46% ตามปกติ ทำให้เรามองว่า มีโอกาสที่ ธนาคารพาณิชย์มีความจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ราว 0.40% ทันทีในต้นปีหน้า นอกจากนี้ เรามองว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจไม่เลื่อนการปรับขึ้น FIDF เพราะจะเป็นการยิ่งเพิ่มเติมภาระหนี้ให้กับประเทศในอนาคตโดยไม่จำเป็น อีกทั้งเศรษฐกิจไทยก็มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีขึ้น จนทำให้ครัวเรือนและผู้ประกอบการมีความสามารถในการชำระหนี้ที่ดีขึ้นได้

MPC policy decision historyMPC policy decision history

คำสั่ง:
เนื้อหาของบทความนี้ไม่ได้แสดงถึงมุมมองของเว็บไซต์ FxGecko เนื้อหามีไว้เพื่อการอ้างอิงเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน การลงทุนมีความเสี่ยง เลือกอย่างระมัดระวัง! หากมีปัญหาใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา ลิขสิทธิ์ ฯลฯ โปรดติดต่อเราและเราจะทำการปรับเปลี่ยนโดยเร็วที่สุด!

บทความที่เกี่ยวข้อง

您正在访问的是FxGecko网站。 FxGecko互联网及其移动端产品是中国香港特别行政区成立的Hitorank Co.,LIMITED旗下运营和管理的一款面向全球发行的企业资讯査询工具。

您的IP为 中国大陆地区,抱歉的通知您,不能为您提供查询服务,还请谅解。请遵守当地地法律。